จังหวัดนครปฐมมาจากไหน พระปฐมเจดีย์มีที่มาอย่างไร

 


จังหวัดนครปฐมมาจากไหน พระปฐมเจดีย์มีที่มาอย่างไร

จังหวัดนครปฐม จังหวัดในพื้นที่ลุ่มภาคกลางบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง อดีตเคยเป็นเมืองการค้าทางทะเลที่เคยรุ่งเรือง ร่วงโรย ตามปกติวิสัย แต่ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด พระปฐมเจดีย์ ไม่เคยเสื่อมศรัทธาจากใจผู้คน มาดูที่มาที่ไปของจังหวัดนี้กัน

พ.ศ. 1100 เมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับรัฐนับถือพุทธศาสนา เมืองนครปฐมโบราณมีลำน้ำบางแก้วผ่ากลาง เส้นผ่าศูนย์กลางของเมืองราว 3 กิโลเมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ในสุวรรณภูมิ แสดงให้เห็นความสำคัญที่มีเหนือบ้านเมืองอื่น และเหมาะสมกับศูนย์กลางวัฒนธรรมทวารวดี-ศรีวิชัยมากที่สุดในสุวรณภูมิ

ส่วนพระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นอยู่ปัจจุบัน สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันตก มีชื่อเรียกว่า มหาธาตุหลวงบ้างพระธมบ้าง

พ.ศ. 1500 สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นที่ดอนมากขึ้น ฝั่งทะเลห่างไกลออกไป แม่น้ำท่าจีนแคบลง เมืองนครปฐมโบราณที่ค้าขายกับนานาชาติทางทะลกลายเป็นเมืองห่างไกลห่างทะเล มีบ้านเมืองอื่นเติบโตขึ้น เช่น ละโว้ (ลพบุรี), อโยธยาศรีรามเทพ (อยุธยา), สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี), ราชบุรี, เพชรบุรี ฯลฯ

ศูนย์กลางการคมนาคมค้าขายย้ายไปอยู่ทางฟากตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองละโว้ เพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีขนาดใหญ่สำเภาเข้าออกสะดวก อำนาจทางการเมืองก็กว้างขวาง เพราเป็นเครือญาติกับอาณาจักรกัมพูชาที่ทะเลสาบเมืองเสียมเรียบ กับบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง (อีสานและลาว) แล้วยังขยายเครือข่ายขึ้นไปถึงลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำสาละวิน ฯลฯ เป็นเหตุให้เมืองนครปฐมโบราณลดความสำคัญและรกร้างไป แต่สถูปใหญ่มหาธาตุหลวง หรือพระธม ยังศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่อง ผู้คนบ้านเมืองยุคหลังๆ เดินทางไปนมัสการไม่ขาด

หลัง พ.ศ.1800 มหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เจ้านายรัฐสุโขทัย (หลานพ่อขุนผาเมือง) ทรงผนวชเป็นภิกษุที่รัฐสุโขทัย ทรงจาริกแสวงบุญ และทรงพาญาติโยมจากที่ต่างๆ มาบูรณปฏิสังขรณ์มหาธาตุหลวง หรือที่เรียกเป็นภาษาเขมรว่าพระธม (ธม แปลว่าใหญ่) ขณะเป็นเนินดินขนาดมหึมา จึงสร้างสถูปเหนือเนินดินขึ้นเป็นปรางค์

พ.ศ. 2100 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้โยกย้ายผู้คนและบ้านเล็กเมืองน้อยมารวมกันเป็นเมืองใหญ่ไว้ต่อต้านข้าศึก ที่บริเวณปากลำน้ำบางแก้วกับแม่น้ำท่าจีนสบกันให้ชื่อว่า เมืองนครไชยศรี [ตามตำนานนิทานท้าวแสนปมว่าพระเจ้าไชยสิริ จากเมืองเชียงแสน มาสร้างเมืองนี้ไว้นานแล้ว จึงนำพระนามไชยสิริ มาเป็นไชยศรี]

พ.ศ. 2374 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชประทับอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) กรุงเทพฯ เสด็จธุดงค์ไปนมัสการสถูปเจดีย์ใหญ่เมืองนครไชยศรี ทรงเรียกพระปฐมเจดีย์ เพราะทรงเชื่อว่าเป็นพระเจดีย์แห่งแรกของสยาม

 

พ.ศ. 2379 หมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) ไปนมัสการพระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี) แวะนมัสการพระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี แล้วแต่งนิราศพระแท่นดงรังพรรณนาถึงพระปฐมเจดีย์ด้วย

พ.ศ. 2385 สุนทรภู่ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี แต่งนิราศพระประธม

พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 หลังจากนั้นก็โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระสถูปเจดีย์ใหญ่เมืองนครไชยศรี ที่ภายหลังคือพระปฐมเจดีย์ แล้วโปรดให้สร้างวัดขึ้นใหม่พร้อมกับพระราชวังที่ประทับ พระราชทานนามว่า วังปฐมนคร

พ.ศ. 2409 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ขณะนั้นรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร (พระชันษา 14 พรรษา) เสด็จไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ขณะเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์ มีรูปร่างอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ครอบสถูปองค์เดิมไว้ข้างใน

พ.ศ. 2438 รัชกาลที่ 5 ตั้งมณฑลนครไชยศรี มีเมืองต่างๆ รวมเข้าด้วยกัน 3 หัวเมือง คือ นครไชยศรี, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี มีที่ทําการอยู่เมืองนครไชยศรี

พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 โปรดให้ย้ายที่ทําการเมืองนครไชยศรี ไปอยู่บริเวณที่เป็นตัวจังหวัดนครปฐมปัจจุบัน แต่ยังคงเรียกชื่อว่าเมืองนครไชยศรี

พ.ศ. 2445 รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างทางรถไฟผ่านมณฑลนครไชยศรี มีสถานจอดเฉียดใกล้พระสถูปเจดีย์ใหญ่ แล้วเสด็จทรงเปิดการเดินรถไฟถึงนครปฐม เมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2446

พ.ศ. 2456 รัชกาลที่ 6 โปรดให้เรียกชื่อเมืองนครปฐม ตามพระราชดําริของรัชกาลที่ 4 ที่พระราชทานนามพระราชวังว่า ปฐมนคร

พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 โปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดนครปฐม

 

ข้อมูลจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง, โครงการสถาบันสุวรรณภูมิ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร (ไม่ระบุปีพิมพ์)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2563

 

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก 

แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า